puttiparent.com http://thananchai.siam2web.com

        ประวัติ โรงเรียนพุทธิโศภน  

            เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2441  หรือ 111 ปีที่ผ่านมา พระบาทสมเดชพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชองการโปรดเกล้า ให้ประกาศ การจัดการศึกษาเล่าเรียน ตามหัวเมือง ในมณฑลต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร เริ่มแรกทางการขอให้สถาบันสงฆ์โดยผ่านทางพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส (สมเดชพระสมณะเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส) ทรงรับผิดชอบดำเนินการจัดการศึกษา พระเจ้าน้องยาเธอฯ จึงทรงพระบัญชาให้คณะสงฆ์รับผิดชอบจัดการศึกษาในหัวเมือง โดยให้ใช้ศาสนสถาน เช่น วิหาร ศาลา ฯลฯ เป็นสถานที่เรียน พร้อมทั้งส่งพระภิกษุผู้ที่มีความรู้ ความสามารถจากกรุงเทพฯออกไปประสานงาน ดำเนินการและเปิดการเรียนการสอนในเบื้องต้น

(02) 2009828_77910.jpg

 

 

        สำหรับที่เชียงใหม่ พระครูสังฆบริคุต (พระมหาคำเปิง) ในภายหลังได้เลื่อนสมณะศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระนพีสีพิศาลคุณ ชาวบ้านลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด เชียงใหม่ ที่ลงไปศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้ขึ้นมาดำเนินการตามพระบัญชาเป็นรูปแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2439 พำนักอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง ได้จัดการศึกษาปริยัติธรรมแผนใหม่ แบบกรุงเทพฯ และจัดการศึกษาภาษาไทย เป็นพระภิกษุรูปแรกที่ได้จัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยขึ้นที่เชียงใหม่ ณ วัดเจดีย์หลวง ใช้ชื่อว่า "โรงเรียนพระเจดีย์หลวง" เมื่อ พ.ศ.2442

(02) 2009828_77868.jpg

            นอกจากการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดเจดีย์หลวงแล้ว พระนพีสีพิศาลคุณ ได้จัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยขึ้นที่ วัดหอธรรม (วัดหอธรรมเป็น 1 ใน 4 วัดที่ตั้งอยู่ภายในวัดเจดีย์หลวง คือ วัดหอธรรม วัดพันเตา วัดแสนฝาง วัดสบขมิ้น ภายหลังรวมเป็นวัดเจดีย์หลวง คงเหลือแต่เพียงวัดพันเตาเพียงแห่งเดียว) เพื่อเป็นรากฐานในการจัดการศึกษา พระปริยัติธรรมตามหลักสูตรของมหามกุฎราชวิทยาลัยแก่บรรพชิต พร้อมทั้งได้เปิดรับนักเรียนทั่วไปเข้าศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทยในหลักสูตรวิชาสามัญด้วย ในระยะแรกโรงเรียนวัดหอธรรมได้เริ่มสอนที่ศาลาสงฆ์ของวัดหอธรรม แล้วจึงย้ายไปเปิดที่ ที่ธรณีสงฆ์ด้านตะวันตกของวัดหอธรรม    การก่อสร้างอาคารหลังใหม่ที่ด้านเหนือของพระวิหารหลวงวัดเจดีย์หลวง  เป็นอาคารชั้นเดียวเป็นห้องโถงใหญ่  ฝาโปร่งเป็นซี่กรงรูปข้าวหลามตัด  แบ่งออกเป็น 4 ชั้นชั้นเตรียม  ชั้น ป.1-2-3 แต่ละชั้นไม่มีฝากั้นรวมกันอยู่ในห้องโถงนั้น     แล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2468  พระครูพุทธิโศภน ( ปั๋น ) พระคณาจารย์ตรี  เจ้าอาวาสวัดหอธรรมจึงได้นำความกราบทูลพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าสกลมหาสัฆปรินายก เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายธรรมยุต  ขอประทานนามโรงเรียนประถมศึกษาแห่งใหม่นั้น

                 ต่อมาวันที่7 สิงหาคมพ.ศ. 2468 สมเด็จพระสังฆราช จึงได้โปรดประทานนามโรงเรียนนั้นว่า    "โรงเรียนพุทธิโศภน"   ตามนามของเจ้าอาวาสวัดหอธรรมซึ่งเป็นผู้อุปการะโรงเรียน และต่อมาวันที่  1  กันยายน พ.ศ.  2468  ทางโรงเรียนก็ได้ย้ายนักเรียนที่เปิดสอนชั่วคราวจากที่อยู่โรงเรียนประชาบาลตำบลพระสิงห์มาเปิดสอนที่โรงเรียนพุทธิโศภน และคงเปิดสอนต่อเนื่องมาจนถึงปีพ.ศ.2479 จึงได้ย้ายออกไปอยู่ที่อาคารที่สร้างขึ้นใหม่ในพื้นที่วัดเชษฐาซึ่งเป็นวัดร้างและเป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนพุทธิโศภนสืบมาตราบจนทุกวันนี้....     

                  จากความริเริ่มดำเนินการ   การศึกษา เพื่อบ้านเมืองของพระมาหาคำเปิงนี้เอง  แม้เมื่อหมดอายุขัยของท่านแล้ว  แต่จากเจตนารมณ์อันดีงามของท่าน  จึงได้ดำเนินการสานต่อโครงการสืบต่อมาคือพระครูพุทธิโศภน (บุญปั๋น) ได้มีหนังสือไปกราบทูลกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเดชพระสังฆราช วัดราชบพิธ กทมฯ เพื่อทรงประทานนามโรงเรียนประถมศึกษา ที่ตั้งอยู่ภายในวัดเจดีย์หลวง พระองค์ทรงประทานนามว่า โรงเรียนวัดหอธรรม แบะตั้งอยู่ในเขตสังฆาวาสหอธรรม ต่อมาเป็นคณะหอธรรมวัดเจดีย์หลวง พระองค์ทรงประทานนามใหม่ว่า "โรงเรียนพุทธิโศภน" เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2468 ครั้งแรกโรงเรียนตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลาศิลาขณะนี้ พระครูพุทธิโศภน (ปั๋น) ได้ย้ายมาสร้างใหม่ด้านทิศเหนือพระพระวิหาร บริเวณอาคารเอนกประสงค์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2468 ก่อนที่จะย้ายไปสร้างใหม่ ในพื้นที่ของวัดเชษฐา (วัดร้าง) ในที่ตั้งปัจจุบันเมื่อ พ.ศ.2479

(02) 2009828_77951.jpg

                 พระครูพุทธิโศภน เจ้าอาวาสวัดหอธรรมหรือนามเดิม คือ พระปลัดปั๋น หรือบุญปั๋น เคยเป็นเจ้าคณะแขวง (ตำบล) เป็นพระอาจารย์ตรี ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านได้หลบภัยสงครามไปพำนักอยู่ที่บ้านนางเหลียว (ปัจจุบัน หมู่ที่ 2 ตำบลหนองจ๊อม อำเภอสันทราบ จังหวัดเชียงใหม่) บ้านเกิดของท่าน เมื่อ พ.ศ.2487  ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ท่านได้ มรณภาพในปีเดียวกัน ทางคณะสงฆ์วัดเจดีย์หลวงและญาติ ๆ ของท่าน จึงได้ทำการฌาปนศพของท่าน ณ เมรุชั่วคราวกลางทุ่งนา หน้าวัดนางเหลียว อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่.

 

เรียบเรียงจากหนังสือสมโภชพระวิหารหลวง วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร  หน้า 52,101,135,148 พ.ศ.2552

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 12,742 Today: 4 PageView/Month: 17

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...